วันจันทร์ที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑

กะเทาะแนวคิดธุรกิจยุคไฮเทค "ข้อมูลเสิร์ช" เป็นมากกว่าไกด์ไลน์




ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ "อินเทอร์เน็ต" เป็นเครื่องมือที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในโลกธุรกิจที่ต้องอาศัยความรวดเร็วและข้อมูลมหาศาลในการตัดสินใจ

วอลล์สตรีต เจอร์นัล ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ เริ่มหันมาใช้ประโยชน์จากการค้นหาผ่านเว็บ หรือที่เรียกกันว่าเว็บเสิร์ช (web search) กันมากขึ้น ไม่เพียงแต่ใช้ข้อมูลมาประกอบกลยุทธ์ทางการตลาดเหมือนที่ผ่านมา หากแต่ขยายไปถึงการใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจที่จะขายสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่สะท้อนผ่านการ "เสิร์ช" เลยทีเดียว

ยกตัวอย่างบริษัทเนชั่นแนล อินสตรูเมนต์ คอร์ป ผู้ผลิตซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาบริษัทขายสินค้าที่ผู้ซื้อต้องนำไปติดตั้งลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบธรรมดา แต่หลังจากที่ได้รับข้อมูลวิจัยว่าบรรดาวิศวกรมักจะเสิร์ชหาสินค้าในเว็บ โดยใช้คีย์เวิร์ด "USB" ซึ่งเป็นประเภทของการเชื่อมต่อของคอมพิวเตอร์ บริษัทจึงตัดสินใจที่จะขายสินค้าเวอร์ชั่นใหม่ที่เชื่อมต่อผ่าน USB

"คริสเตอร์ จังดาห์ล" ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายการตลาดของเนชั่นแนล อินสตรูเมนต์ กล่าวว่า ผลที่ได้ คือ สินค้ารุ่นดังกล่าวเป็นหนึ่งในสินค้าที่เติบโตรวดเร็วที่สุด และประสบความสำเร็จมากที่สุดเมื่อเทียบกับสินค้าของบริษัทรวมทั้งหมด

จากข้อมูลของอีมาร์เก็ตเตอร์ พบว่าผู้คนใช้คีย์เวิร์ดจำนวนหลายล้านคำในการเสิร์ชหาข้อมูลในแต่ละวัน ซึ่งมีคนจำนวนมากค้นหาสินค้าหรือบริการที่ตัวเองต้องการ คาดกันว่าปีนี้บริษัทในสหรัฐจะใช้จ่ายเงินในการโฆษณาออนไลน์บนเว็บเสิร์ชเอ็นจิ้นมากถึง 8.3 พันล้านดอลลาร์

น่าสนใจว่า บริษัทหลายแห่งเริ่มจะใช้ข้อมูลการเสิร์ชในลักษณะที่ลงลึกไปถึงว่า คนเหล่านั้นสนใจที่จะซื้อหาอะไรจริงๆ เหมือนที่บริษัทเนชั่นแนล อินสตรูเมนต์ ได้ทำมาแล้ว

เพราะบริษัททั้งหลายต่างก็ใช้บริการฐานข้อมูลบนเว็บจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอย่างยาฮู กูเกิล และเว็บไซต์อื่นๆ เพื่อประเมินจำนวนการเสิร์ชผ่านคีย์เวิร์ดต่างๆ ซึ่งบางบริษัทก็ใช้ข้อมูลเสิร์ชที่ได้ในฐานะแหล่งข้อมูลหนึ่งสำหรับการวิจัยหรือตัดสินใจผลิตเท่านั้น ขณะที่อีกหลายบริษัทใช้ประโยชน์จากข้อมูลเสิร์ชมากกว่าแค่เป็นไกด์ไลน์

ปัจจุบันบริษัทต่างๆ ที่ซื้อโฆษณาที่เกี่ยวกับการเสิร์ชข้อมูลผ่านเว็บกูเกิลและยาฮูจะสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้คีย์เวิร์ดได้ ซึ่งจะทำให้บริษัททราบถึงพฤติกรรมการเสิร์ชของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้น

โดยยาฮูให้บริการฟรีผ่าน http://inventory.overture.com/d/searchinventory/suggestion และวางแผนที่จะอัพเกรดเวอร์ชั่นใหม่ในปีนี้ ส่วนไมโครซอฟท์ก็มีบริการฟรีเช่นกันบน http://adlab.microsoft.com/forecastV2/KeywordTrendsWeb.aspx ซึ่งจะให้ข้อมูลจำนวนการเสิร์ชในแต่ละเดือน รวมถึงการประเมินจำนวนครั้งในการเสิร์ชย้อนหลัง และข้อมูลอายุและเพศของผู้เสิร์ช ขณะที่กูเกิลก็มีบริการ "เทรนด์ส" (trends.google.com) ที่ให้ผู้ใช้ได้เห็นภาพกราฟจำนวนการเสิร์ชในเวลาที่ใส่คีย์เวิร์ดเพื่อค้นหาข้อมูลด้วย รวมถึงการเปรียบเทียบจำนวนกับคีย์เวิร์ดคำอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีบริการวิจัยคีย์เวิร์ด (keyword-research services) อื่นๆ ซึ่งก็รวมถึง Wordtracker จากบริษัทริเวอร์โกลด์ แอสโซซิเอตส์ ซึ่งจะมีบริการฟรีในการประเมินจำนวนการเสิร์ชในแต่ละวัน รวมทั้งคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับคำนั้นๆ ผ่านเว็บ freekeywords.wordtracker.com ขณะที่เทรลเลียน (Trellian) ก็มีบริการฟรีที่เรียกว่า KeywordDiscovery (www.keyworddiscovery.com/search.html) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งซอฟต์แวร์ที่จะช่วยให้บริษัทสามารถใช้ติดตามข้อมูลการเสิร์ชว่า ผู้บริโภคใช้คำว่าอะไรในการเสิร์ชข้อมูล

บริการต่างๆ ข้างต้นทำให้บริษัทหลายแห่งใช้เครื่องมือนับคีย์เวิร์ดเพื่อช่วยแผนการตลาดของสินค้าที่ตัวเองขาย แต่อีกหลายบริษัทก็พยายามจะซื้อโฆษณาที่เกี่ยวกับคีย์เวิร์ดที่เป็นที่นิยมในขณะนั้นซึ่งเชื่อมโยงกับธุรกิจของตัวเอง ขณะที่บางบริษัทก็นำคีย์เวิร์ดที่ผู้บริโภคใช้กันมากที่สุดมาประยุกต์ใช้กับสินค้าของตัวเองและสร้างแคมเปญการตลาดจากสิ่งคีย์เวิร์ดที่ใช้เสิร์ช

นอกจากนี้ บางบริษัทยังใช้ซอฟต์แวร์ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้าไปชมเว็บไซต์ของตัวเอง เพื่อจะช่วยตัดสินใจว่าบริษัทจะขายอะไร และทำอย่างไรจะนำเสนอให้ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด

"ซีเมนส์ เมดิคอล โซลูชั่นส์" เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ก้าวข้ามไปอีกหนึ่งขั้น โดยใช้ข้อมูลคีย์เวิร์ดที่เสิร์ชมากสุดในเว็บยาฮูและกูเกิลมาตั้ง "ชื่อ" ของบัตรสุขภาพส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสินค้ารุ่นใหม่สุด

แม้กระบวนการตั้งชื่อก็ยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้ แต่ที่แน่ๆ คือ ผลวิจัยจำนวนการเสิร์ชจะเป็นตัวผลักดันการตัดสินใจของซีเมนส์ฯ

สำหรับหลักฐานที่สนับสนุนว่าข้อมูลการเสิร์ชของผู้บริโภคมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าธุรกิจในทางใดทางหนึ่งนั้น เกิดจากการที่กูเกิลเคยวิเคราะห์คำเสิร์ชที่เกี่ยวข้องกับหนังในปี 2548 และนำมาเปรียบเทียบกับรายได้ในช่วงสัปดาห์เปิดตัวหนังแต่ละเรื่อง ซึ่งพบว่าข้อมูลการเสิร์ชเหล่านั้นสามารถทำนายผลของธุรกิจได้แม่นยำถึง 82% หรือมากกว่านั้น

"เบรตต์ ครอสบี้" ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริการวิเคราะห์ข้อมูล ของกูเกิล กล่าวว่า ถ้าหากคุณไม่ฟังถึงวิธีที่ลูกค้าโหวตผ่านการเสิร์ช ซึ่งสะท้อนว่าลูกค้าต้องการอะไรจากเว็บไซต์ และสินค้าที่พวกเขาต้องการจะได้ นั่นก็เท่ากับว่า คุณไม่ฟังเสียงของลูกค้าตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น: