วันศุกร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ธุรกิจซื้อขายออนไลน์ปี 52 ... ยังคงขยายตัวได้ แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง


ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนว โน้มชะลอตัวลง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้ภาคธุรกิจต้องประสบกับปัญหายอดขายชะลอตัวลงอย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ายังมีธุรกิจหนึ่งที่อาจมีโอกาสเติบโตท่ามกลางวิกฤตปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งคือธุรกิจซื้อขายออนไลน์ โดยได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มและโอกาสของธุรกิจ มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

@ ภาพรวมปี 2551 ... ธุรกิจซื้อขายออนไลน์เติบโตเพิ่มขึ้น แม้เศรษฐกิจจะเผชิญปัญหา

ธุรกิจ ซื้อขายออนไลน์ถือเป็นส่วนหนึ่งของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจมีได้หลายรูปแบบ แต่โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงธุรกิจซื้อขายออนไลน์ก็มักจะหมายถึงธุรกิจขายให้ กับผู้บริโภค (Business to Consumer: B2C) อีกทั้งจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใน ธุรกิจซื้อขายออนไลน์จะอยู่ในรูปแบบของ B2C ถึงประมาณร้อยละ 72.5 โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายประมาณร้อยละ 29.4 คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประมาณร้อยละ 21.1 และธุรกิจบริการประมาณร้อยละ 11.1 อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการเติบโตของตลาดซื้อขายออนไลน์ทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบการซื้อ ขายออนไลน์ระหว่างผู้บริโภคขายให้กับผู้บริโภค (Consumer to Consumer: C2C) ผ่านตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace)

ในปี 2551 ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัญหานานัปการ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่งผลให้ค่าครองชีพของผู้บริโภค และต้นทุนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น หรือสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนักลงทุน ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน แต่ธุรกิจซื้อขายออนไลน์กลับมีแนวโน้มเติบโต โดยจากการสำรวจของ NECTEC ในปี 2551 มีจำนวนผู้ที่ซื้อสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 45.5 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2550 ที่มีประมาณร้อยละ 28.9 โดยสินค้าและบริการที่มีการสั่งซื้อมากที่สุดได้แก่ หนังสือประมาณร้อยละ 36.4 การสั่งจองบริการต่างๆ ประมาณร้อยละ 30.7 และภาพยนตร์ (พัสดุ) ประมาณร้อยละ 18.1 ขณะที่การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายสูงสุดประมาณร้อยละ 16.5 การสั่งจองบริการต่างๆ ประมาณร้อยละ 14.9 และหนังสือประมาณร้อยละ 13.6 นอกจากนี้ จากรายงานของ e-Bay ก็พบว่าตลาดซื้อขายออนไลน์ของไทยในปี 2551 มีธุรกรรมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36 จากปีก่อน โดยสินค้าที่ซื้อขายมากที่สุด ได้แก่ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อัญมณี และสินค้าที่เกี่ยวกับรถยนต์ โดยเฉพาะอัญมณีที่จากสถิติพบว่าทุก 27 วินาที ผู้ขายจะสามารถขายได้ 1 ชิ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการสำรวจมูลค่าตลาดซื้อขายออนไลน์มีความแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับนิยามในการสำรวจและกลุ่มตัวอย่าง สำหรับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามูลค่าตลาดซื้อขายออนไลน์ในปี 2551 อาจอยู่ในช่วง 25,000-30,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 30-40 จากปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าจะมีประมาณ 15.4 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2550 ที่มีประมาณ 13.4 ล้านคน อีกทั้งจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่าน ADSL ก็มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 43.5 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 36.8 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหันมาใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ให้มีความสะดวกรวดเร็วและน่าเชื่อ ถือมากขึ้น ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกก็ผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาสั่ง ซื้อสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น นอกจากนี้ การเติบโตของเว็บไซต์ e-Marketplace ก็ช่วยทำให้การซื้อขายออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นด้วย เช่น เว็บไซต์ weloveshopping.com ที่มีร้านค้ากว่า 125,956 ร้าน มีสินค้ากว่า 1.1 ล้านรายการ มีผู้เข้ามาชมกว่า 20 ล้านเพจวิว/เดือน เว็บไซต์ tarad.com มีร้านค้ากว่า 130,700 ร้าน มีสินค้ากว่า 1.1 ล้านรายการ เป็นต้น


@ แนวโน้มปี 2552 ... โอกาสสำคัญ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ

สำหรับ ในปี 2552 ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว และปัญหาอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะชะลอตัวลง แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าธุรกิจซื้อขายออนไลน์จะเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่จะมีแนวโน้มเติบโต โดยได้วิเคราะห์ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจซื้อขายออนไลน์ ดังนี้

จุดแข็งและโอกาส

@ มีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำ ทำ ให้สามารถตั้งราคาขายต่ำกว่าท้องตลาดได้ โดยผู้ประกอบการมีทางเลือกในการจัดจำหน่ายสินค้าในหลายรูปแบบ เช่น จัดทำเว็บไซต์โดยเฉพาะ ขายผ่านเว็บ e-Marketplace ขายผ่านการประมูลออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละรูปแบบมีต้นทุนในการดำเนินการต่ำกว่าการมีหน้าร้านขายสินค้าตาม ปกติ โดยบางเว็บไซต์อาจไม่คิดค่าบริการหรือคิดค่าบริการไม่สูงในการนำสินค้าไปวาง ขาย อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถทำการขายผ่านช่องทางออนไลน์และหน้าร้านปกติควบคู่ กันไป เป็นการช่วยขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวลงส่งผลให้ผู้บริโภคอาจชะลอการบริโภคลง การจำหน่ายสินค้าและบริการออนไลน์ที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาดก็อาจเป็นทาง เลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญมากขึ้น

@ ความรวดเร็วในการปรับเปลี่ยนการสื่อสารทางการตลาดและแนะนำสินค้าและบริการใหม่ๆ แก่ลูกค้า เพื่อ ให้ทันต่อกระแสและตอบสนองตลาดได้เร็วที่สุด ซึ่งธุรกิจซื้อขายออนไลน์ถือได้ว่ามีความได้เปรียบอย่างมากเมื่อเทียบกับ ช่องทางการขายตามปกติ เนื่องจากสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งจะทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น

@ จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก การแข่งขันของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ทำให้ราคาค่าบริการมีแนวโน้มถูกลงและความเร็วเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยี 3G และ WiMAX ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งช่วยกระจายโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ทำให้ธุรกิจซื้อขายออนไลน์มีโอกาสเติบโตตามไปด้วย

@ ปัจจุบันเทคโนโลยีในการทำธุรกรรมออนไลน์มีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น โดย เฉพาะการชำระเงินออนไลน์ที่มีการพัฒนาระบบการตรวจสอบการชำระเงินผ่านบัตร เครดิต กฎหมายควบคุมธุรกิจบริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการดำเนินการออกเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trustmark) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การบังคับใช้ พ.ร.บ. การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ แนวโน้มการออกกฎหมายรับรองเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ก็จะช่วยรับรองการออกใบเสร็จ อิเล็กทรอนิกส์ (e-Invoice) และในอนาคตก็จะมี พ.ร.บ. หลักเกณฑ์และวิธีการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ประกอบการและสร้างความมั่นใจ แก่ผู้บริโภคมากขึ้น

จุดอ่อนและอุปสรรค

@ ปัญหาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ทั้ง ปัญหาความเชื่อมั่นในระบบการชำระเงินที่อาจต้องใช้บัตรเครดิตหรือการชำระ เงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ต การไม่ได้เห็นสินค้าจริงซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคอาจไม่มั่นใจว่าจะได้รับ สินค้าดังที่ปรากฏบนเว็บไซต์หรือไม่ รวมทั้งอาจไม่มั่นใจในผู้จำหน่ายสินค้าว่าจะจัดส่งสินค้าให้หลังจากชำระเงิน ไปแล้วหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญของธุรกิจซื้อขายออนไลน์ โดยจากการสำรวจของ NECTEC พบว่า ปัญหาข้างต้นเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้บริโภคอาจตัดสินใจไม่เลือก ซื้อสินค้าและบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะปัจจุบันที่อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐจำเป็นต้องเร่งพัฒนา เทคโนโลยีในการป้องกันให้ทันท่วงทีมากขึ้น

@ อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตของไทยยังต่ำ โดยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 23.2 ซึ่ง ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซียมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 59.0 สิงคโปร์ประมาณร้อยละ 58.6 เป็นต้น ซึ่งในด้านหนึ่งอาจมองได้ว่าผู้ประกอบการยังมีโอกาสที่จะสามารถขยายตลาดได้ อีกในอนาคต แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ถือเป็นข้อจำกัดในการทำตลาดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงจังหวัดที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดจะกระจุก ตัวอยู่ในจังหวัดสำคัญของประเทศ เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งหากอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตไม่เพิ่มขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายตลาดซื้อขายออนไลน์ไปสู่ต่างจังหวัด

@ ผู้บริโภคยังซื้อสินค้าและบริการที่มีราคาไม่สูง โดย จากการสำรวจของ NECTEC ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ตในระดับราคาประมาณ 1,001-5,000 บาท มากที่สุดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 41.2 รองลงมาเป็นระดับราคาต่ำกว่า 1,000 บาท เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 27.6 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของผู้บริโภคที่ยังคงไม่เชื่อมั่นในการซื้อ ขายสินค้าออนไลน์ ทำให้ยังคงเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาไม่สูงนัก ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อการเติบโตของมูลค่าตลาดซื้อขายออนไลน์ได้ โดยจากข้อมูลของ IDC ประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่อ GDP สูงที่สุด ได้แก่ ฮ่องกงประมาณร้อยละ 25.8 สิงคโปร์ประมาณร้อยละ 25 ส่วนไทยประมาณร้อยละ 7.1 เท่านั้น

ทั้งนี้ จากเหตุผลและปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าธุรกิจซื้อขายออนไลน์จะยังคงมีแนวโน้มเติบโต แม้อาจต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้น จากการชะลอการบริโภคของผู้บริโภคในปีหน้า แต่ก็คาดว่าผู้บริโภคจะมีการโยกย้ายการบริโภคจากช่องทางปกติไปสู่การซื้อขาย ออนไลน์มากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2552 ธุรกิจซื้อขายออนไลน์จะมีมูลค่าประมาณ 30,000-39,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 20-30 แม้จะชะลอลงจากปี 2551 ที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 30-40 แต่ก็ถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่คาดว่าแนวโน้มการแข่งขันในตลาดจะรุนแรงมากขึ้น จากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ

@ โอกาสและแนวทางของผู้ประกอบการในธุรกิจซื้อขายออนไลน์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง ว่าโอกาสของผู้ประกอบการในธุรกิจซื้อขายออนไลน์จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของ โครงสร้างพื้นฐานและบริการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบการชำระเงิน ระบบการจัดส่งสินค้า เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น โดยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งด้านความปลอดภัยในการชำระเงิน คุณภาพของสินค้า และระบบการจัดส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันต้องเร่งพัฒนาและปรับตัวเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรมีการรวมกลุ่มกันในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเพิ่มโอกาส ในการแข่งขัน สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กควรส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายผ่านตลาด e-Marketplace เนื่องจากจะช่วยสร้างความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคและเพิ่มโอกาสในการขายสินค้า และบริการได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สินค้าและบริการที่จะมีโอกาสเติบโตในตลาดซื้อขายออนไลน์ควรจะเป็นสินค้าและ บริการที่ขึ้นอยู่กับกระแสนิยม ซึ่งจะสอดคล้องกับจุดแข็งของการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตที่สามารถปรับ เปลี่ยนการสื่อสารทางการตลาดได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งจากปัญหาด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการที่มีราคาสูง ดังนั้นสินค้าและบริการที่จะมีโอกาสทำตลาดได้ดีก็ควรจะต้องมีราคาต่อหน่วย ไม่สูงมากนัก รวมทั้งราคาขายในอินเทอร์เน็ตก็ควรต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไปด้วย เพื่อที่จะดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาสนใจมากขึ้น โดยสินค้าที่คาดว่า จะมีโอกาสในตลาดซื้อขายออนไลน์ ได้แก่ สินค้าไอที เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องสำอาง และบริการเดินทางและท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหลายรายอาจมองว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจไปสู่ระบบ ออนไลน์มากขึ้นนั้นอาจมีความยุ่งยากและซับซ้อน แต่ในความเป็นจริงการทำธุรกิจซื้อขายออนไลน์ไม่ได้ยากอย่างที่คิด โดยอาจมีเครื่องคอมพิวเตอร์เพียง 1 เครื่อง ก็สามารถเริ่มต้นดำเนินธุรกิจได้แล้ว และอาจไม่จำเป็นต้องมีเว็บไซต์เป็นของตนเอง เนื่องจากสามารถไปฝากขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ e-Marketplace ได้ โดยสามารถสรุปขั้นตอนหรือแนวทางเบื้องต้นในการเริ่มต้นธุรกิจซื้อขายออนไลน์ ดังนี้

1. กำหนดเป้าหมาย ผู้ประกอบการต้องกำหนด เป้าหมายในการทำธุรกิจซื้อขายออนไลน์ให้ชัดเจน เช่น ต้องการลดต้นทุน ต้องการขยายฐานลูกค้า ต้องการปรับภาพลักษณ์ เป็นต้น

2. ศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า ผู้ ประกอบการต้องทำการศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า (Consumer Behavior) ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อนำมาวิเคราะห์และจัดทำแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมที่สุด โดยหากกลุ่มลูกค้าหลักหรือกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ เป็นประจำ ผู้ประกอบการก็อาจใช้ธุรกิจซื้อขายออนไลน์เป็นโอกาสในการขยายตลาดไปสู่กลุ่ม ลูกค้าใหม่ๆ ได้เช่นกัน

3. ทำความเข้าใจในระบบธุรกิจซื้อขายออนไลน์ ผู้ ประกอบการควรมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรูปแบบและระบบธุรกิจซื้อขายออนไลน์ เช่น การเลือกรูปแบบเว็บไซต์ ระบบฐานข้อมูล ระบบการชำระเงิน การโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต ระบบการรักษาความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต เป็นต้น เนื่องจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวจะช่วยให้สามารถวางแผนการดำเนิน ธุรกิจซื้อขายออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม

4. วางแผนธุรกิจซื้อขายออนไลน์ ผู้ ประกอบการต้องวางแผนและจัดวางระบบในการทำธุรกิจ (Business Plan) ดังเช่นธุรกิจปกติ ทั้งด้านการเงิน การตลาด การจัดส่งสินค้า และอื่นๆ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับรูปแบบของธุรกิจซื้อขายออนไลน์ โดยต้องเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม ทั้งนี้ อาจเลือกใช้บริการของผู้ให้บริการ Outsource ที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีมาดูแลและจัดการในเชิงเทคนิค

5. ติดตามและสื่อสารกับลูกค้า ผู้ ประกอบการควรใช้โอกาสจากธุรกิจซื้อขายออนไลน์ในการจัดทำระบบบริหารจัดการ ความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management: CRM) ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ธุรกิจซื้อขายออนไลน์จะได้เปรียบธุรกิจปกติ เนื่องจากมีต้นทุนในการติดตามและสื่อสารกับลูกค้าต่ำ โดยผู้ประกอบการสามารถนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากลูกค้ามาดำเนินการปรับ ปรุงการดำเนินงานและการให้บริการ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด

@ สรุปและข้อคิดเห็น

ใน ปี 2551 ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัญหานานัปการ แต่ธุรกิจซื้อขายออนไลน์กลับมีแนวโน้มเติบโต โดยจากการสำรวจของ NECTEC ในปี 2551 มีจำนวนผู้ที่ซื้อสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 45.5 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2550 ที่มีประมาณร้อยละ 28.9 ที่ผ่านมาการ สำรวจมูลค่าตลาดซื้อขายออนไลน์มีความแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับนิยามในการสำรวจและกลุ่มตัวอย่าง สำหรับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามูลค่าตลาดซื้อขายออนไลน์ในปี 2551 อาจอยู่ในช่วง 25,000-30,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 30-40 จากปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับ สนุนมาจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหันมาใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีความสะดวกรวดเร็วและน่าเชื่อ ถือมากขึ้น นอกจากนี้ การเติบโตของเว็บไซต์ e-Marketplace ก็ช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจซื้อขายออนไลน์ด้วย

สำหรับในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าธุรกิจซื้อขายออนไลน์จะเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่จะมีแนวโน้มการเติบ โต โดยมีจุดแข็งจากต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำ ทำให้สามารถตั้งราคาขายต่ำกว่าท้องตลาดได้ อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถทำการขายผ่านช่องทางออนไลน์และหน้าร้านปกติควบคู่ กันไป เป็นการช่วยขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้มากขึ้นด้วย ความรวดเร็วในการปรับเปลี่ยนการสื่อสารทางการตลาดและการแนะนำสินค้าและ บริการใหม่ๆ เพื่อให้ทันต่อกระแสและตอบสนองตลาด จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากราคาค่าบริการที่มีแนวโน้มถูกลงและความเร็วเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยี 3G และ WiMAX ช่วยกระจายโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไปสู่ผู้บริโภคในต่างจังหวัดได้มาก ขึ้น ตลอดจนเทคโนโลยีในการทำธุรกรรมออนไลน์ที่มีความปลอดภัยและสะดวกรวดเร็วมาก ขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้ประกอบการและสร้างความมั่นใจแก่ผู้ บริโภคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจซื้อขายออนไลน์ยังมีจุดอ่อนที่ควรเร่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งปัญหาความเชื่อมั่นในระบบ การชำระเงิน การไม่ได้เห็นสินค้าจริง รวมทั้งความไม่มั่นใจในการจัดส่งสินค้าหลังจากชำระเงินไปแล้ว ทั้ง นี้ จากเหตุผลและปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าธุรกิจซื้อขายออนไลน์จะยังคงมีแนวโน้มเติบโต แม้อาจต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้น จากการชะลอการบริโภคของผู้บริโภค แต่ก็คาดว่าผู้บริโภคจะมีการโยกย้ายการบริโภคจากช่องทางปกติไปสู่การซื้อขาย ออนไลน์มากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2552 ธุรกิจซื้อขายออนไลน์จะมีมูลค่าประมาณ 30,000-39,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 20-30 แม้จะชะลอลงจากปี 2551 ที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 30-40 แต่ก็ถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่คาดว่าแนวโน้มการแข่งขันในตลาดจะรุนแรงมากขึ้น จากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ


ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย